จากปัญหายางพาราราคาตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือแก้ไข กระทั่งมีข่าวดีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เรื่องค่าครองชีพ
ในการประชุมครม. วันที่ 4 ธ.ค. ได้อนุมัติให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริง 1,800 บาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ราย ระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน (ธ.ค.61-ก.ย.62)
นอกจากนี้ยังอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกรเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางพาราไม่ให้ต่ำกว่าราคาตลาด เสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรสามารถรวบรวมยางพาราเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และสนับสนุนสินเชื่อและเงินชดเชยค่าบริหารจัดการให้แก่สถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพเป็นแม่ขายในการรวบรวมยางพาราเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ
เป้าหมายเพื่อสนับสนุนสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อ ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.61-28 ก.พ.63 โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยจากโครงการฯ ร้อยละ 4 ต่อปี สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.01 และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3.99 รวม 199.50 ล้านบาท
ทั้งหมดใช้งบประมาณทั้งสิ้น 17,512,734,883 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง จำนวน 17,007,204,860 บาท, งบประมาณชดเชยต้นทุนของ ธ.ก.ส. อัตรา FDR+1 จำนวน 369,906,706 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงินธ.ก.ส.ให้เจ้าของสวนและคนกรีดยาง จำนวน 9,123,317 บาท และงบบริหารโครงการ จำนวน 126,500,000 บาท
ล่าสุดนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การให้ความช่วยเหลือ 1,800 บาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ราย หากมีคนกรีดยาง จะแบ่งจ่าย 2 ส่วน คือ ให้เจ้าของสวนยาง ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง 1,100 บาท/ไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต/ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และให้คนกรีดยาง 700 บาท/ไร่ เพื่อเป็นค่าครองชีพ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิที่เปิดกรีดแล้ว และขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อนวันที่ 14 พ.ย. 61 จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่ 9,448,447 ไร่
สำหรับขั้นตอนจากนี้ จะติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ณ ที่ทำการของกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่สวนยางตั้งอยู่ และเปิดรับแจ้งเข้าร่วมโครงการฯ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 61-28 ก.พ. 62 จากนั้นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ จะดำเนินการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ หากคุณสมบัติผ่านตามหลักเกณฑ์ จะส่งบัญชีรายชื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินผ่านบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. ของชาวสวนยาง โดยจะเริ่มจ่ายเงินได้ภายในเดือนธ.ค.นี้
ในส่วนเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการแจ้งสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ทางเกษตรกรเจ้าของสวนยาง ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง
ต้องเตรียม
- เอกสารสิทธิ์ที่ดินฉบับจริง
- บัตรประจำตัวประชาชน ส่วนคนกรีดยางนอกจากบัตรประจำตัวประชาชน ต้องนำหนังสือมอบอำนาจจากคนกรีดยางรายอื่นมาด้วย (กรณีมีคนกรีดยางหลายคน)
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. ทั้งในส่วนของเกษตรกรเจ้าของสวนยาง ผู้เช่า หรือผู้ทำสวนยาง และผู้กรีดยาง เพื่อใช้ในการโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น