โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดโรคได้ เมื่อผู้ชายใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ในบางครั้งก็อาจจะมองเห็นที่อวัยวะเพศนั้นมีตุ่มสีขาวขนาดเล็กเรียงกัน ซึ่งสร้างความกังวลใจอย่างยิ่งว่าเราติดโรคอะไรจากคู่นอนมาหรือไม่ โดยเราจะมาไขข้อข้องใจกันว่าตุ่มเหล่านั้นเกิดจากอะไร และจะมีวิธีดูแลรักษาอย่างไรได้บ้าง
➪เป็นต่อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ผู้ชายที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรืออาจจะเคย แต่มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ตุ่มเล็กๆ เหล่านั้นที่เกิดขึ้นรอบๆ บริเวณส่วนหัวของอวัยวะเพศ อาจจะเป็นต่อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า Pearly Penile Papules บางคนก็มีตุ่มขนาดเล็กมากจนไม่อาจสังเกตเห็นได้ ในขณะที่บางคนก็มีขนาดใหญ่และอาจจะมีตั้งแต่ 1 – 3 แถว คล้ายกับหูดหงอนไก่ ต่อมเหล่านี้จัดว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ารู้สึกกังวลใจก็สามารถใช้เลเซอร์ลบให้เล็กลง แต่จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้อีก
➪เป็นต่อมไขมันหรือต่อมอื่นๆ
ตุ่มสีขาวที่เรามักจะมองเห็นนั้น อาจจะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสมอไป แต่เป็นต่อมไขมันที่เรียกกันว่า Fordyce spot ซึ่งเกิดจากต่อมไขมันหรือต่อม Sebaceous glands ที่ปกติมักจะอยู่ร่วมกับในรูขุมขน แต่กรณีนี้จะอยู่ที่ผิวหนังหรือด้านนอกของรูขุมขน หรือเป็นต่อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างเช่น Tyson gland โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดและยังสามารถจางลงได้เอง หรืออาจจะอยู่เป็นเดือนเป็นปี ทั้งนี้หากเป็นมากขึ้นก็สามารถใช้วิธีเลเซอร์ให้จางลงได้ แต่ก็จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีก
➪โรคหูดหงอนไก่
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากความเสี่ยงอย่างเช่นการมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส HPV หรือ Human papilloma virus โดยเป็นติ่งเนื้อสีชมพูที่มีลักษณะเหมือนดอกเล็กๆ คล้ายกับดอกกะหล่ำหรือหงอนไก่ โดยมีวิธีรักษาหลายวิธีที่ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของรอยโรค แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
➠การรักษาด้วยวิธีจี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ เป็นการตัดรอยโรคออกไป โดยลดอาการเจ็บด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่เสียก่อน แต่วิธีนี้จะมีข้อเสียตรงที่ควันจากการจี้รักษาจะมีเชื้อไวรัส HPV ซึ่งถ้าสูดดมเข้าไปมากอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อ HPV ในระบบทางเดินหายใจได้ และยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 5 – 50%
➠การรักษาด้วยวิธีจี้ด้วยความเย็น เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบกับไนโตรเจนเหลวแล้วป้ายที่รอยโรค หรือใช้วิธีพ่นสเปรย์ลงบริเวณที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสกับรอยโรคนั้นเป็นระยะเวลาประมาณ 10 – 15 นาที ซึ่งอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดบ้างและทิ้งรอยดำไว้ โดยสามารถทำซ้ำได้ทุก 2 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายดี แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรคด้วยเช่นกัน และยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 20 – 40%
➠การตัดออกด้วยวิธีผ่าตัด โดยใช้ยาชาฉีดเฉพาะที่เพื่อลดความเจ็บปวด และยังเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดโอกาสหรือความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้มากที่สุด เพียงแค่ 20% เท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
➠ใช้ยา Imiquimod 5% ทาหรือป้ายที่รอยโรค เป็นการกระตุ้นภูมิต้านทานโรคเพื่อให้ร่างกายกำจัดเชื้อ HPV เหมาะสำหรับหูดหงอนไก่ที่อยู่ในบริเวณที่ราบและไม่ได้อยู่บริเวณเยื่อเมือกต่างๆ ของร่างกาย และยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 20%
➠ใช้ยา Podophyllin 5% ทาหรือป้ายที่รอยโรค แพทย์จะแต้มยาชนิดนี้ทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง แล้วล้างออก โดยใช้รักษาเป็นระยะเวลา 3 – 4 สัปดาห์ หรือจนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค แต่อาจจะรู้สึกแสบหรือระคายเคืองบริเวณที่แต้มยาไว้ และยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 20 – 35%
➠ใช้ยา Trichloroacetic acid 50 – 70% ทาหรือป้ายที่รอยโรค โดยไม่ต้องล้างออก และใช้รักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์ หรือจนกว่ารอยโรคจะหาย แต่อาจจะรู้สึกแสบหรือระคายเคืองบริเวณที่แต้มยาไว้ และยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 35%
➪โรคหูดข้าวสุก
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Molluscum contagiosum จะเป็นตุ่มที่มีลักษณะเป็นรอยบุ๋มตรงกลาง เมื่อบีบแล้วจะมีสารที่มีสีขาวขุ่นคล้ายกับข้าวสุก โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
➠รอเวลาให้หายเอง จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือน ซึ่งมักจะใช้กับเด็กที่มีรอยโรคไม่มากนัก เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความรู้สึกเจ็บจากการรักษาด้วยวิธีอื่น
➠การขูดออก เป็นการขูดรอยโรคที่เรียกว่า Molluscum bodies ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Curette โดยสามารถใช้ยาชาชนิดแปะ เพื่อลดอาการเจ็บปวดลงได้ และแพทย์จะทำการรักษาซ้ำทุก 2 – 3 สัปดาห์ จนกว่ารอยโรคจะหายไป
➠การจี้เย็น เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบกับไนโตรเจนเหลวแล้วป้ายที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสกับรอยโรคนั้นเป็นระยะเวลาประมาณ 10 – 15 นาที ซึ่งอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดบ้างและทิ้งรอยดำไว้ โดยสามารถทำซ้ำได้ทุก 2 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายดี แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรคด้วยเช่นกัน
➠การใช้ยา แพทย์จะใช้ยา Podophyllin เป็นยาชนิดเดียวกันกับที่รักษาโรคหูดหงอนไก่ เพื่อทำลายเซลล์ผิวหนังที่มีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ เหมาะสำหรับรอยโรคที่อยู่บริเวณเนื้อหรือเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ และแพทย์จะทำการจี้ซ้ำทุกสัปดาห์ประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ จนกว่ารอยโรคจะหายไป
ดังนั้นเราจึงพอจะทราบแล้วว่า ตุ่มสีขาวที่ขึ้นเรียงกันบริเวณอวัยวะเพศนั้น ไม่ได้มีสาเหตุเพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสมอไป แต่เราก็ไม่ควรไว้วางใจเช่นกัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะต้องใช้ถุงยางอนามัยเสมอ รวมถึงหมั่นสังเกตตัวเองด้วยนั่นเอง
ที่มา : https://www.honestdocs.co/penis-with-white-blister
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น