วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

รู้ไว้! ทำความรู้จัก STO, IPOและICO





IPO (Initial Public Offering)

ICO (Initial Coin Offering)

STO (Security Token Offering)









IPO (Initial Public Offering) เป็นการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ของบริษัทที่ต้องการเงินทุนและกระจายการถือครองหุ้นให้ประชาชนทั่วไป โดยทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriters) ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดไว้



นอกจากนี้ บริษัทจะมีที่ปรึกษาทางการเงิน ในการทำหนังสือชี้ชวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ให้มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อให้นักลงทุนอ่านทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจจองซื้อหุ้นได้



ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ทำหน้าที่เสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปแทนบริษัท ซึ่งจะกำหนดวิธีการจองซื้อ ช่องทางการจำหน่าย การชำระเงิน หรือการจัดสรรหุ้น เมื่อหุ้นได้รับจัดสรรเรียบร้อยแล้ว ก็จะถูกนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสซื้อขายได้



บริษัทที่จะเข้าซื้อขายใน SET จะต้องมีทุนจดทะเบียน มากกว่า 300 ล้านบาท และกำไรมากกว่า 50 ล้านบาท ก่อนเข้าตลาด 2-3 ปี

บริษัทที่จะเข้าซื้อขายใน mai ต้องมีทุนจดทะเบียน มากกว่า 50 ล้านบาท และกำไรมากกว่า 10 ล้านบาท ก่อนเข้าตลาด....













ICO (Initial Coin Offering) เป็นวิธีการระดมเงินทุนของบริษัท หรือ สตาร์ทอัพ ที่ต้องการนำไปลงทุนในโครงการใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ บริการใหม่ โดยการออก Coins หรือ Tokens (ซึ่งอาจจะเรียกว่า เหรียญดิจิทัล หรือ ดิจิทัลโทเคน) มาขายให้คนที่สนใจและเชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ และหลังจากขายครั้งแรกแล้วจะนำ Coins หรือ Tokens ไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง เพื่อให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้



นักลงทุนที่จะซื้อเหรียญดิจิทัล หรือ ดิจิทัลโทเคน จาก ICO จะต้องชำระด้วยเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น Bitcion, Ethereum ซึ่งการรับชำระด้วย Cryptocurrency ทำให้นักพัฒนาสามารถระดมเงินทุนจากใครก็ได้ในโลกนี้ที่สามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่จำกัดอยู่เฉพาะสกุลเงินใดสกุลหนึ่ง 



ในขณะที่ยังไม่มีประเทศใดประกาศรับรอง Cryptocurrency ให้เป็น “เงินตามกฎหมาย”



การระดมทุนด้วยวิธีการ ICO ทำได้ง่าย ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ไม่ต้องมีประวัติการดำเนินงาน และสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้โดยตรง เพียงแค่มี Whitepaper หรือ เอกสารประกอบการเสนอขาย ให้นักลงทุนพิจารณาประกอบการตัดสินใจ เพราะยังไม่มีการกำกับดูแลจาก ก.ล.ต. มีเพียงข้อตกลงที่ทำด้วย Smart Contracts (สัญญาอัจฉริยะ) โดยจะระบุเงื่อนไข ข้อตกลงต่างๆ อ้างอิงกับ Whitepaper



นอกจากนี้ เหรียญดิจิทัล หรือ ดิจิทัลโทเคน ที่ได้จาก ICO จะไม่ใช่หุ้น แต่อาจจะ “สิทธิ” บางอย่างที่นักพัฒนากำหนดขึ้นมา เช่น 

- สิทธิในการใช้ซื้อสินค้า หรือ ใช้บริการ 

- สิทธิในทรัพย์สินบางอย่าง เช่น ทองคำ อาคาร 



- สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ หรือ กำไร แต่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ไม่ได้เป็นเจ้าของร่วม













STO (Security Token Offering) คือการเสนอขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนจากประชาชนและนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาบริษัท ผู้ซื้อสามารถเก็บหรือนำไปซื้อขายในตลาดรองเพื่อเก็งกำไรได้ ที่สำคัญ ผู้ซื้อจะได้สิทธิของการเป็นผู้ร่วมถือหุ้นของบริษัทผู้เสนอขาย STO ทุกประการ รวมถึงสิทธิในการลงคะแนนเสียง และสิทธิในการได้รับเงินปันผล จึงทำให้มีความแตกต่างจาก ICO ที่ผู้ซื้อจะได้เพียงโทเคนดิจิทัลมาถือไว้ในมือเท่านั้น และจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงก็ต่อเมื่อผู้พัฒนาผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ



STO มีประโยชน์อย่างไร?

เนื่องจาก STO เป็นการผนวกข้อดีของการเสนอขายหลักทรัพย์ ที่ผู้ซื้อจะได้สิทธิของการเป็นผู้ถือหุ้น (และไม่ต้องลุ้นว่าโทเคนดิจิทัลที่ได้มาจากการลงทุน ICO จะกลายเป็นสิ่งไร้ค่า) เข้ากับเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงทำให้ STO มีความน่าสนใจหลายประการ เช่น เป็นการเปิดประตูต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลก STO มีข้อดีเช่นเดียวกับ ICO นั่นคือ เป็นการทลายข้อจำกัดด้านการลงทุน โดยเฉพาะกับนักลงทุนรายย่อยที่จากเดิมสามารถลงทุนได้เฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศนั้นนั้น แต่ด้วย STO นักลงทุนสามารถทำความเข้าใจ ศึกษา และลงทุนในบริษัทที่เสนอขาย STO ที่ตั้งอยู่ในประเทศใดก็ได้ เพราะการระดมทุนจะเกิดขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ต การเปิดกว้างดังกล่าวนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้ ICO ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา



คุณสมบัติของเทคโนโลยีบล็อกเชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ STO ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมที่มีแนวโน้มต่ำกว่า ความรวดเร็วในการทำธุรกรรมและการส่งมอบหลักทรัพย์ ความโปร่งใสและสภาพคล่องที่มีมากกว่า และความสามารถในแปลงสินทรัพย์ใดก็ได้ให้เป็นโทเคนดิจิทัล (tokenization) ทำให้บริษัทไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กก็มีสิทธิระดมทุนจากนักลงทุนโดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนมากนัก





และเมื่อนำคุณสมบัติของโทเคนหลักทรัพย์ (security token) เข้ากับโทเคนดิจิทัลทั่วไปแล้ว บริษัทผู้ระดมทุนสามารถนำมาใช้ทำการตลาดโดยการนำคุณสมบัติสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) มาประยุกต์ใช้ ยกตัวอย่าง บริษัทร้านอาหารสามารถมอบส่วนลดให้กับผู้ที่ถือโทเคนดิจิทัลมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อเป็นของรางวัล ซึ่งนับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้โทเคนดิจิทัลของบริษัทในทางอ้อม





ที่มา : bitwiredblog.com, moneyandbanking.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ศึกชิงจ้าวสายน้ำ!! แข่งเรือยาวประเพณีบุ่งคล้า

  ศึกชิงจ้าวสายน้ำ แข่งเรือยาวประเพณีบุ่งคล้า 🛶 ร่วมสืบทอดประเพณี วัฒนธรรมทางสายน้ำอันยิ่งใหญ่ !! ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2566 ณ ริมฝั่...