วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

สหกรณ์ยางบึงกาฬแจง ปม โรงงานแปรรูป ชี้เหตุ ขั้นตอนราชการ















เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่ข่าวสาร กรณีการก่อสร้าง โรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ ภายใต้งบประมาณกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนกว่า 193 ล้านบาท ซึ่งแล้วเสร็จตามข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง (ทีโออาร์) ทว่า ในสัญญากลับไม่ครอบคลุมถึงระบบไฟฟ้า และบ่อบำบัดน้ำเสีย กลายเป็นความติดขัด นำไปสู่การเสนอเป็นข่าวสารต่างๆ



ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬจำกัด และผู้เกี่ยวข้องจึงชี้แจงแถลงความจริง ให้ประชาชนสิ้นข้อสงสัย



เกษตร สิทธิไกรพงษ์ ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ ชี้แจงว่า เมื่อปี 2559 ชุมนุมสหกรณ์ฯได้ระดมทุนและกู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตหมอนยางพารา โดยโรงงานแรกที่ก่อสร้างขึ้นเป็นที่ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 250-500 ใบต่อวัน



ทั้งนี้ ชุมนุมสหกรณ์ฯได้ขอกู้เงินกองทุนเพื่อแปรรูปยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในขณะนั้น สำหรับก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยางข้น ซึ่งจะเป็นโรงงานที่มีผลต่อราคาการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรทันที หากดำเนินการได้ และจะสามารถเป็นโรงงานที่ผลิตวัตถุดิบ (น้ำยางข้น) เข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป



ขณะเดียวกัน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และความเดือดร้อนของประชาชน จึงนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขต่อกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเมื่อปี 2560



ด้วยความโชคดีของพี่น้องเกษตรกรชาวบึงกาฬ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณสำหรับดำเนินการก่อสร้างโรงงานตามที่กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนเสนอไป พร้อมระบุไว้ในโครงการว่า สถานที่ดำเนินการคือที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด เลขที่ 245 หมู่ 4 ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ส่วนที่มีหลายคนสงสัยว่า เมื่อไหร่โรงงานที่สร้างใหม่จะรับซื้อผลผลิตพี่น้องเกษตรกร ขอกราบเรียนว่า โรงงานที่สร้างขึ้นโดยงบประมาณของรัฐบาลนั้น อำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้าง กำกับ ควบคุมดูแลล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของราชการ ชุมนุมสหกรณ์ฯมิใช่หน่วยงานราชการ ไม่ได้มีอำนาจเข้าไปควบคุม กำกับ ดูแลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด นายเกษตรชี้แจง



ขณะนี้โรงงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงงานผลิตหมอนยางพารา 2.โรงงานผลิตที่นอนยางพารา 3.โรงงานผลิตอัดก้อนยางพารา 4.โรงงานผลิตน้ำยางข้น และ 5.โรงงานผลิตเศษยางพาราเป็นแผ่นเครฟ ก่อสร้างเสร็จสิ้นตามทีโออาร์แล้ว พร้อมได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธนารักษ์ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯเข้าใช้ และดำเนินการต่างๆ ในโรงงานแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา



ภายหลังได้รับมอบหมายได้ประสานไปที่หน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่โรงงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้เกิดการเดินเครื่องจักรให้ได้ ซึ่งขณะนี้ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด ได้ขอรับเงินอุดหนุนไปที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เรียบร้อยแล้ว หากได้รับงบประมาณมาคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน จะสามารถเดินเครื่องจักรได้



อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด คือเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำต่อเนื่อง พร้อมให้เกษตรกรชาวสวนยางปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายผลผลิตเชิงคุณภาพ จากการขายยางก้อนถ้วยเป็นน้ำยางสด โดยวิธีการรับซื้อจะมีการวัดค่าเปอร์เซ็นต์น้ำยางแห้ง หรือ DRC (Dry Rubber Content) ขณะเดียวกัน ชาวสวนยางต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเพิ่มมูลค่า เช่น หมอนและที่นอนยางพารา อุปกรณ์ด้านการเกษตร อุปกรณ์เด็กเล่น นายเกษตรระบุ



ด้าน ชูศักดิ์ สุทธศรี ผู้จัดการโรงงานฝ่ายผลิตหมอนและที่นอน ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด เสริมว่า การทำทีโออาร์ของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยราชการของจังหวัดบึงกาฬเป็น ผู้ลงนาม ไม่เกี่ยวกับชุมนุมสหกรณ์ฯ แต่อย่างใด ดังนั้น การเร่งรัดหรือติดตามผู้รับเหมาให้มาทำการก่อสร้าง ชุมนุมสหกรณ์ฯจึงทำไม่ได้ อีกทั้งงบประมาณเกี่ยวกับ บ่อบำบัดน้ำเสีย ถูกตัดไป เนื่องจากจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน



ยืนยันว่า ผู้ตรวจบัญชีสหกรณ์บึงกาฬได้เข้ามาตรวจสอบและรับรองงบดุลให้ทางชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด ทุกปี เราโปร่งใส ไม่มีการทุจริตแน่นอน ทุกท่านสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ นอกจากนี้ โครงการทั้งหมดนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับนายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ และ อบจ.บึงกาฬ ทว่า เป็นทางชุมนุมสหกรณ์ฯที่เข้าไปขอการสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ ประสานงานการเดินระบบไฟฟ้า ชูศักดิ์ยืนยันความโปร่งใส



ขณะที่ นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ ชี้แจงสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า การที่ อบจ.บึงกาฬ เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากกฎหมายกระจายอำนาจระบุชัดเจนว่า อบจ.ต้องสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร วันนี้ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าชุมนุมสหกรณ์ฯต้องการขอรับการสนับสนุนเรื่องระบบไฟฟ้า ซึ่งเราได้ดำเนินการแล้ว ขณะเดียวกันยังเชิญกลุ่มสตรีแม่บ้านมาอบรมฝีมือ ตัดเย็บปลอกหมอนยางพารา เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ พร้อมส่งเสริมให้เป็นกลุ่มอาชีพในอนาคต



ด้าน พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด ชี้แจงปิดท้ายว่า ได้เล็งเห็นว่าการแปรรูปผลิตผลด้านการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างเช่น ชาวนาประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีการปลูกข้าว แต่ก็ไม่ได้ขายข้าวเพียงอย่างเดียว ยังมีการแปรรูปข้าวให้กลายเป็น สาเก เมื่อเทียบกับตอนเป็นข้าวเปลือก 1 เกวียน ราคา 12,000 บาท แต่พอเป็นสาเก 1 ขวด ราคาสูงถึง 15,000 บาท ดังนั้น หากเกษตรกรไทยนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปได้จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนได้ในระดับหนึ่ง



ชาวสวนยางพาราไทยสามารถนำผลิตผลมาแปรรูปได้เช่นกัน เช่น วันนี้ขายน้ำยางดิบได้กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ถ้านำน้ำยางดิบแปรรูปเป็นน้ำยางข้นก็จะมีมูลค่าเพิ่มอีกเกือบ 10 บาท ยิ่งไปกว่านั้นชุมนุมสหกรณ์ฯยังสามารถแปรรูปเป็นหมอนยางพารา เพิ่มมูลค่าได้อีกหลายเท่า ทำให้ผมสนับสนุนเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวสวนยางบึงกาฬหรือจังหวัดอื่นๆ พร้อมทั้งผลักดันให้โครงการเหล่านี้ไปถึงภาครัฐ

บึงกาฬ เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของยางพาราภาคอีสาน เป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการปลูกยาง ช่วยให้เศรษฐกิจในจังหวัดดีขึ้น แม้จะเจอการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ไม่เป็นปัญหา เกษตรกรยังสามารถกรีดยาง ขายน้ำยางได้



อย่างไรก็ตาม โครงการโรงงานแปรรูปที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากติดขัดปัญหากระบวนการทำงานระบบราชการ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ต่อไป ซึ่งเร็วๆ นี้จะสะท้อนไปถึงนายกฯ ครม. และผู้ว่าการ กยท.ให้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ในฐานะที่ปรึกษาก็ได้ให้กำลังใจและหาเครือข่ายตลาด พร้อม มุ่งเป้าหมายไปที่ตลาดประเทศจีน ซึ่งไม่นานมานี้ก็มีเรื่องน่ายินดี เพราะได้มีการพูดคุยกับลาซาด้า ในการเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าหมอนและที่นอนให้กับชุมนุมสหกรณ์ฯ เพื่อให้ปัญหาทั้งหมดกระจ่างแจ้ง ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริง พร้อมเร่งทบทวนและแก้ไขการทำงานเป็นการด่วน พินิจสรุป







ข่าวต้นฉบับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ศึกชิงจ้าวสายน้ำ!! แข่งเรือยาวประเพณีบุ่งคล้า

  ศึกชิงจ้าวสายน้ำ แข่งเรือยาวประเพณีบุ่งคล้า 🛶 ร่วมสืบทอดประเพณี วัฒนธรรมทางสายน้ำอันยิ่งใหญ่ !! ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2566 ณ ริมฝั่...